ชะลอแจกเงิน 10,000 ดิจิทัลเฟส 3
นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ “ชะลอ” โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เฟส 3 ออกไปก่อน เพื่อให้มีการนำเงินงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท ไปใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เนื่องจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากนโยบายการเก็บภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีทรัมป์
ทั้งนี้ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว 2 เฟส โดยเฟสแรกเริ่มในเดือนกันยายนปี 2567 ให้กับกลุ่มเปราะบางและคนพิการ จำนวน 14.5 ล้านคน คาดการณ์จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.35% จากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดการณ์ไว้สูงถึง 1.3-1.8% ส่วนโครงการเฟส 2 แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป วงเงิน 40,000 ล้านบาท ที่เริ่มแจกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
รวม 2 เฟสแจกเงินไปแล้วกว่า 180,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการเฟส 3 ที่ให้ชะลอออกไปก่อนนั้น มีเป้าหมายที่จะแจกเงินให้กับกลุ่มนำร่องที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป วงเงิน 30,000 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ตลอดจนแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการจะมีเพียงพอกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนไว้ได้อย่างไร แต่รัฐบาลก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะแจกเงิน 10,000 บาทต่อไป จนกระทั่งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนจากภาวะผันผวนเกิดความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากสงครามการค้าและนโยบายการเก็บภาษีตอบโต้ของสหรัฐ
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เอง ก็แสดงความเห็นถึงการ “ชะลอ” โครงการแจกเงินดิจิทัลออกไปว่า “เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว” เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีการปรับประมาณการ GDP ลง และปริมาณการค้าโลกก็จะลดลงด้วย
ดังนั้นการยืนยันที่จะเดินหน้าแจกเงินต่อไป ย่อมสวนทางกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมรับแรงกระแทกจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงินให้สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท
ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งล่าสุดที่ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบฯกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อรักษาการจ้างงานและวางรากฐานครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ คมนาคม การท่องเที่ยว
เพราะการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ไม่มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์เศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่
ที่มา : ชะลอแจกเงิน 10,000 ดิจิทัลเฟส 3