ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า ตลาดยังตามติด Trade War ใกล้ชิด
ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า ตลาดยังติดตาม Trade War ใกล้ชิด ขณะที่กำหนดเวลาเจรจาการค้า 90 วันใกล้เข้ามาทุกขณะ นักลงทุนกังวลการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์
ฝ่ายค้าเงินตราต่างปะเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 19-23 พฤษภาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (19/5) ที่ระดับ 33.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/5) ที่ระดับ 33.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วงต้นสัปดาห์ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ต่อเนื่องจากวันศุกร์ (16/5) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าสหรัฐจะเป็นฝ่ายกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าเพียงฝ่ายเดียว แทนที่จะมีการทำข้อตกลงกับทุกประเทศ เนื่องจากการเจรจากับทุกประเทศภายในระยะเวลา 90 วันอาจเป็นไปได้ยาก
รวมถึงสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (18/5) ว่า สหรัฐตั้งเป้าบรรลุข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาจะเปลี่ยนไปใช้อัตราภาษีนำเข้าแบบรายภูมิภาคสำหรับอีกหลายประเทศ ในขณะที่กำหนดเวลาเจรจาการค้า 90 วันหลังใกล้เข้ามาทุกขณะ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายภาษีศุลกากรของสหรับต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
อีกทั้งการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/5) การอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 4.7% สู่ระดับ 1.412 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.450 ล้านยูนิต
กังวลเงินเฟ้อสหรัฐ
ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลง 2.7% สู่ระดับ 50.8 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับในรอบ 8 เดือนและเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากระดับ 52.2 ในเดือน เม.ย. โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 7.3% และ 4.6% ในช่วง 1 และ 5 ปีข้างหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน เม.ย. ที่ระดับ 6.56% และ 4.4% ตามลำดับ
นอกจากนี้ มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐ จากระดับ Aaa ลงมาอยู่ที่ Aa1 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะและอัตราภาระดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีอันดับใกล้เคียงกันอย่างมาก และไม่เชื่อว่าแผนงบประมาณปัจจุบันจะสามารถลดการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือการขาดดุลงบประมาณได้อย่างมากในระยะยาว
โดยในช่วง 10 ปีข้างหน้า คาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างสวัสดิการต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของรัฐบาลยังคงอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม และส่งผลให้ภาระหนี้ของรัฐบาลกลางจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 134% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี 2578 เทียบกับระดับ 98% ในปี 2567 ส่วนการชำระดอกเบี้ยของรัฐบาลกลางอาจใช้สัดส่วนถึงประมาณ 30% ของรายได้รัฐบาล ขณะเดียวกันได้ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ จากเชิงลบกลับมาเป็นมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ตลาดจับตาดูทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศต่าง ๆ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยในปลายสัปดาห์ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 227,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลข ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคการบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.1 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน
จับตาไทยเจรจาภาษีกับสหรัฐ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/2568 ขยายตัว 3.1% จากตลาดคาดการณ์ว่าจะโต 2.9-3.1% โดยเป็นขยายตัวต่อเนื่อง 3.3% จากไตรมาส 4/2567 ปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรชะลอลง ขณะที่การผลิตภาคเกษตรเร่งขึ้น
ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล การนำเข้าสินค้าและบริการ และการสะสมทุนถาวรเบื้องต้นชะลอลง ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 2568 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลงจาก 91.8 ในเดือน มี.ค. 2568 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้าหน้าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ระดับ 93.3 จาก 95.7 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี
นอกจากนี้ตลาดจับตาดูท่าทีของสหรัฐ ภายหลังไทยมีการส่งคำขอเจรจาการค้ารวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ ไปในสัปดาห์ก่อน ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 โดยชี้แจงว่ารัฐบาลได้รับคำแนะนำจากหลายหน่วยงานให้รัฐบาลพิจารณาใช้งบประมาณดังกล่าวในเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนมากกว่า
โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.49-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/5) ที่ระดับ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ยุโรปเกินดุลสหรัฐเพิ่ม
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (19/5) ที่ระดับ 1.1175/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/5) ที่ระดับ 1.1194/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
โดยตลาดยังคงจับตาดูการค้าระหว่างยุโรปและสหรัฐ ภายหลังสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยในวันศุกร์ (16/5) ว่า การส่งออกไปสหรัฐ พุ่งขึ้นถึ 59.5% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 7.14 หมื่นล้านยูโร ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 9.4% แตะที่ 3.07 หมื่นล้านยูโร ส่งผลให้สหภาพยุโรปเกินดุลการค้ากับสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 4.07 หมื่นล้านยูโร จากยอดเกินดุลที่ 1.67 หมื่นล้านยูโรในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยตัวเลขดังกล่าวอาจส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง
โดยวันพฤหัสบดี (22/5) S&P Global เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (PMI) ของยูโรโซนฉบับเบื้องต้นลดลงมาอยู่ที่ 49.5 ในเดือนนี้ ลดลงจาก 50.4 ในเดือน เม.ย. และ PMI ภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ 48.9 จาก 50.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 และต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 อย่างมีนัยสำคัญ จากตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์แสดงให้เห็นถึงความกังวลของผู้หญิงและผู้ให้บริต่อเศรษฐกิจของยูโรโซน
ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1167-1.1362 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/5) ที่ระดับ 1.1312/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
เงินเยนแข็งค่า
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (19/5) ที่ระดับ 145.13/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/5) ที่ระดับ 145.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการที่มีความต้องการถือครองสกุลเงินเยนเพิ่มมากขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย
ทั้งนี้แรงหนุนเป็นไปได้อย่างจำกัด จากการที่สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่สู้ดีนัก สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นในวันจันทร์ (16/5) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 1 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.1%
และเมื่อเทียบเป็นรายปี GDP ไตรมาส 1 หดตัวลง 0.7% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.2% โดยมีสาเหตุมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งได้บดบังการเติบโตของการลงทุนด้านทุน โดยการส่งออกในไตรมาส 1 ลดลง 0.6% เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งพาการส่งออก ขณะที่การนำเข้าพุ่งขึ้น 2.9% ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อตัวเลข GDP เช่นกัน
นอกจากนี้ตลาดจับตาดูการเจรจาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ เนื่องจากทั้งสองประเทศยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ แม้ว่าญี่ปุ่นนับเป็นประเทศแรก ๆ ในการเข้าเจรจาก็ตาม
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานเดือน มี.ค. ของญี่ปุ่น พุ่งขึ้นถึง 13.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสวนทางอย่างชัดเจนกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าย ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งมีความผันผวนสูงและถือป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายในการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า ขยายตัวถึง 8.4% ซึ่งก็สวนทางกับที่ผลสำรวจคาดว่าจะหดตัว 2.2% เช่นกัน
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวันพฤหัสบดี (22/5) ว่า ค่าจ้างที่แท้จริงเฉลี่ยต่อเดือนหลังหักผลกระทบเงินเฟ้อ ลดลง 0.5% ในปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2568 นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งตอกย้ำว่าแม้เงินเดือนปรับขึ้น แต่ก็ยังไล่ไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไม่หยุด การหดตัว 0.5% ของค่าจ้างที่แท้จริงในปีงบประมาณ 2567 ถือว่าน้อยกว่าการติดลบ 2.2% ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557
ส่วนตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่นขยายตัว 3.5% ในเดือน เม.ย.เนื่องจากต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น หลังรัฐบาลลดเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค โดยราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.3% โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอลระหว่าง 142.78-145.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/5) ที่ระดับ 143.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า ตลาดยังตามติด Trade War ใกล้ชิด