ธปท.เฝ้าระวัง ‘บาทแข็ง’ ttb ชี้ไม่สอดคล้องพื้นฐานเศรษฐกิจ
นโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดเงินตลาดทุนอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่ปั่นป่วนไปตามทิศทางข่าวสารอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงินคงต้องมีแนวทางบริหารจัดการ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท.เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับสกุลอื่นในภูมิภาค โดยตั้งแต่ความตึงเครียดของสถานการณ์การค้าโลกผ่อนคลายลงในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2568 นักลงทุนเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.5% เทียบกับดอลลาร์ สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นระหว่าง 0.4-1.1% (แข็งค่านำโดย อินโดนีเซีย 1.1%, เกาหลี 1.1%, มาเลเซีย 0.6%)
ในระยะต่อไป ค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทั้งนโยบายการค้า และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก
“ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ชี้ว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะหลังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมากเท่าที่ควร แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะมีความท้าทายค่อนข้างสูง มีโอกาสเติบโตชะลอลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก จากความเสี่ยงของผลกระทบนโยบายภาษีสหรัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่คาด โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป รวมทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน
ตลอดจน Sentiment เชิงลบหลังไทยถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative จาก Stable โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Moody’s) อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยดังกล่าวมีผลจำกัดต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เนื่องจากในช่วงหลังค่าเงินบาทเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแอ
ดังนั้น นโยบายของทรัมป์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ความสัมพันธ์ของค่าเงินบาทและทองคำ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ในระยะหลังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน จะส่งผลให้ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงแข็งค่า ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง และความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีจำกัดจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งสนับสนุนการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น จุดยืนของทรัมป์ที่สนับสนุนการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมการแข็งค่าของเงินสกุลหลัก และภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงค่าเงินบาท
ทั้งนี้ ttb analytics ชี้ว่าผู้มีความเกี่ยวข้องควรติดตามความเสี่ยงจากนโยบายอื่น ๆ ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจลามสู่การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้
ที่มา : ธปท.เฝ้าระวัง ‘บาทแข็ง’ ttb ชี้ไม่สอดคล้องพื้นฐานเศรษฐกิจ