ย้อนดู 6 วิกฤติใหญ่ เขย่าเศรษฐกิจโลก ภาษีทรัมป์ ทำดัชนีความผันผวนพุ่งสูงเกือบเท่าวิกฤติ Covid-19
จากรายงานของ Global Economic Policy Uncertainty (GEPU) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกที่มาจากการคำนวณค่าดัชนี GEPU ในแต่ละเดือนตั้งแต่ปี 1997 เป็นค่าเฉลี่ยที่ถ่วงน้ำหนักของ GDP ของค่าดัชนี EPU ระดับชาติ 21 ประเทศ โดยใช้ข้อมูล GDP จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของ IMF มาเป็นฐานข้อมูลและพบว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตกต่ำลงตั้งแต่ทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2
และเนื่องจากการประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ส่งผลให้ดัชนีความผันผวนพุ่งสูงถึง 428.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเกือบเท่าช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เคยสั่นสะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2020 มาก่อน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกต้องเผชิญกับความผันผวนจากนโยบายเศรษฐกิจโลก ทาง Thairath Money ได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีเกิดความผันผวนอย่างหนักมา 6 เหตุการณ์ ดังนี้
รวม 6 วิกฤติเขย่าเศรษฐกิจโลก
- 1998 : วิกฤติการเงินเอเชีย
วิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชียเริ่มต้นขึ้นเมื่อประเทศไทยไม่สามารถประคองค่าเงินบาทให้ไปต่อได้หลังตลาดต้องเผชิญแรงกดดันขาลงเป็นเวลานานหลายเดือน จนทำให้ค่าเงินตกอย่างรวดเร็วและตกอยู่ในสภาวะ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”
และเมื่อค่าเงินบาทของไทยอ่อนตัวลง สกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียก็ลดลงเช่นกัน อาทิ เงินบาทไทยที่เคยมีมูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 26 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินในปีนั้นทำให้ค่าเงินขยับเปลี่ยนเป็น 53 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงินวอนก็อ่อนค่าลงเช่นกันด้วยอัตราการแลกเปลี่ยนจาก 900 วอน กลายเป็น 1,695 วอนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
การเติบโตของ GDP บางประเทศได้รับผลกระทบและถดถอยอย่างหนัก เช่น อินโดนีเซียที่ลดลงจาก 4.7% กลายเป็น -13.1%, ฟิลิปปินส์ลดจาก 5.2% เป็น -0.5% และมาเลเซียลดลงจาก 7.3% เหลือเพียง -7.4% ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ค่าดัชนีความไม่แน่นอนจากวิกฤติการเงินในเอเชียสูงถึง 141.9 จากการรายงานของ Global Economic Policy Uncertainty (GEPU)
- 2001 : ฟองสบู่ดอทคอม (Dot-Com Bubble)
การเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มเทคโนโลยี เช่น Microsoft, Intel และ Amazon โดยมีการคำนวณว่าในตอนนั้น ตลาด NASDAQ มีการซื้อขายกันที่ P/E 200 เท่า เช่น Cisco ณ ตอนนั้น ราคาหุ้นของบริษัทเคยพุ่งขึ้นมากถึง 4500% ในระยะเวลา 5 ปี ทำให้เกิดความสนใจอย่างล้นหลามและทำให้มูลค่าซื้อ-ขายหุ้นของบริษัทเทคในช่วงนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันบางบริษัทเทคก็ฉวยโอกาสที่หุ้นมีราคาสูง ผลักตัวเอง IPO เข้าตลาด NASDAQ และนักลงทุนหลายคนที่เล็งเห็นการเติบโตที่พุ่งแรงของหุ้นสายเทคจึงไม่ลังเลที่จะกระโดดเข้าร่วมและทุ่มเงินทั้งชีวิต หรือแม้กระทั่งลาออกจากงานเพื่อมาเป็นเทรดเดอร์ แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิดเมื่อนักลงทุนเริ่มทยอยถอนเงินออกเพราะตระหนักได้ว่าการลงทุนอาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง และเกิดสภาวะเศรษฐกิจ “ฟองสบู่แตก” ทำให้หุ้นร่วงลงอย่างหนัก คนตกงานจำนวนมาก และสูญเงินไปมากเช่นกัน จากวิกฤตินี้ส่งผลให้ค่าดัชนีความไม่แน่นอนสูงถึง 179.7
- 2008 : วิกฤติการเงินโลก
ครั้งนี้เกิดจากหลายวิกฤติการณ์ทางการเงินที่ทับถมกันมาหลายปีในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากวิกฤติฟองสบู่ดอทคอมแตก หรือความเสียหายจากเหตุก่อการร้าย 9/11 ที่ทำให้ธุรกิจเริ่มถดถอย
ธนาคารกลางสหรัฐจึงได้มีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเงินการกู้ยืมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผลที่ได้กลับมาคือราคาบ้านพุ่งสูงมากขึ้น เนื่องจากผู้กู้ใช้ประโยชน์จากอัตราการจำนองที่ต่ำเพื่อซื้อบ้าน แม้แต่ผู้กู้ซับไพรม์ที่มีประวัติเครดิตไม่ดีหรือไม่มีเลยก็สามารถซื้อบ้านได้ แม้จะเป็นบ้านที่มีราคาเกินตัวผู้ซื้อก็ตาม
และเพราะเหตุนั้นจึงทำให้เกิดการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวจนกลายเป็นภาวะฟองสบู่แตกของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอเมริกาที่สะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก โดยค่าดัชนีความไม่แน่นอนของวิกฤติอยู่ที่ 205.9
- 2016 : ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
จากนโยบายของทรัมป์ในตอนที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งแรกนั้นทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตเร็วกว่าที่คาดไว้และมีอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินสหรัฐให้มีความแปรปรวน
ไม่ว่าเฟดจะกระชับนโยบายการเงินอย่างจริงจังเพื่อขัดขวางราคาที่สูงขึ้นหรือยอมปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะ "ร้อน" เป็นเวลาหนึ่งถึงสองปี ก็ยังไม่สามารถระงับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์มากเกินไปจนกลายเป็นความเสี่ยง
ตลาดที่มีความระส่ำระสายและไม่มั่นคงทำให้เกิดความเสี่ยงเศรษฐกิจและส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเห็นได้จากตัวเลขค่าดัชนีความไม่แน่นอนของวิกฤติ 251.3
- 2020 : โควิด 19
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ถือว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกเนื่องจากไวรัสโคโรนาทำให้โลกถึงกับหยุดชะงัก เพราะมีการออกขอความร่วมมือ หรือออกกฎเกณฑ์บังคับล็อกดาวน์ให้คนใช้ชีวิตอยู่แค่ในบ้านของตนเองเพื่อป้องกันโรคระบาด
ซึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องพักเบรกไปเช่นกัน จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่า วิกฤติโควิด 19 ทำให้ GDP โลกลดลง 54,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.14 โดยมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 7 แสนล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 13 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 33 ส่งผลให้ค่าดัชนีความไม่แน่นอนของวิกฤติโควิด 19 อยู่ที่ 431.6 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในบรรดา 6 เหตุการณ์
- 2025 : ภาษีทรัมป์
หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจาก 180 ประเทศ ส่งผลให้ตลาดโลกเกิดความแปรปรวนอย่างหนักเนื่องด้วยนโยบายภาษีที่คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์ โดยอ้างอิงจากรายงาน “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก” (World Economic Outlook) ของ IMF ระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงไปอยู่ที่ 2.8% จาก 3.3% ในปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
นาย ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า เกือบครึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่จะหายไป 1% นั้น เป็นผลมาจากมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ และสงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐ ยังส่งผลกระทบวงกว้างต่อธุรกิจอื่นๆ เช่น Apple ที่แม้จะเป็นแบรนด์จากอเมริกา แต่มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน ทำให้ต้นทุนการผลิตและนำเข้าชิ้นส่วนของ iPhone อาจมีราคาแพงขึ้นเพราะต้นทุนสูงแต่กำไรน้อยลง
จากสถานการณ์ที่กดดันเพราะการขึ้นภาษีของทรัมป์นั้นทำให้เศรษฐกิจแปรปรวนหนัก ค่าดัชนีความไม่แน่นอนจากวิกฤติภาษีทรัมป์อยู่ที่ 429.8 หรือสูงเกือบเท่าช่วงเกิดวิกฤติโควิด 19
แหล่งที่มา : ย้อนดู 6 วิกฤติใหญ่ เขย่าเศรษฐกิจโลก ภาษีทรัมป์ ทำดัชนีความผันผวนพุ่งสูงเกือบเท่าวิกฤติ Covid-19