แรงขายทองคำในตลาดโลก หลังทำสถิติทะลุ 3,500 ดอลลาร์ ฉุดเงินบาทอ่อนค่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ หลังมีสัญญาณผ่อนคลายลงทั้งในประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และแรงกดดันต่อเฟด
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตรไทยช่วงปลายสัปดาห์ของต่างชาติ และการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกตามแรงขายทำกำไร หลังราคาทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์เหนือแนว 3,500 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ในช่วงที่ผ่านมา
จากก่อนหน้าที่ เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก แรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ และการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ
สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากความกังวลต่อผลกระทบของ Tariffs ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเด็นความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานเฟด โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 25 เม.ย. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 เม.ย.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 เม.ย. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 8,934 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 18,396 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 18,406 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 10 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-2 พ.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.00-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
- ผลการประชุมกนง. (30 เม.ย.)
- รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมี.ค. ของไทย
- สถานการณ์ของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
- ราคาทองคำในตลาดโลก
- สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ
- ผลการประชุม BOJ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่
- เครื่องชี้แรงงาน JOLTS
- ดัชนีราคา PCE/Core PCE
- ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนมี.ค.
- ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 (adv.)
- ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน
- ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต
- ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร
- อัตราการว่างงานเดือนเม.ย.
- จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เดือนเม.ย. ของจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 และอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน