Head Top
กกพ.ชง 3 ทางเลือกค่าไฟท้ายปี เคาะตัวเลขถูกสุด-ดันแพงสุด ชัดเจนสิ้นเดือนก.ค.นี้
Ads test

กกพ.ชง 3 ทางเลือกค่าไฟท้ายปี เคาะตัวเลขถูกสุด-ดันแพงสุด ชัดเจนสิ้นเดือนก.ค.นี้

“กกพ.”เผยรอบนี้มีสัญญาบวกต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคลายตัว เคาะ 3 ทางเลือกงวดท้ายปี ถูกสุดตรึงต่อ 3.98 บาท แต่หากรัฐต้องการเร่งชำระคืนหนี้ กฟผ. และ ปตท. เต็มจำนวนดันแพงสุด 5.10 บาท คาดเคาะตัวเลขชัดเจนสิ้นเดือนนี้

วันที่ 17 ก.ค.2568 ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 26/2568 (ครั้งที่ 968) เมื่อวันพุธที่ 16 ก.ค.2568 มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับงวด ก.ย. – ธ.ค. 2568 เป็น 3 กรณี ตั้งแต่เรียกเก็บต่ำสุดที่ 3.98 บาทต่อหน่วยจนถึงสูงสุดที่ 5.10 บาทต่อหน่วย โดยปัจจัยบวกหลักๆ ที่ส่งผลดีต่อค่าเอฟทีและแนวโน้มค่าไฟที่ลดลงในงวด ก.ย. – ธ.ค. 2568 มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับก่อนวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลง เข้าสู่ภาวะปกติ

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในแนวทางที่เสนอ คือ การตรึงค่าไฟไว้ที่ 3.98 บาทต่อหน่วยเท่ากับงวดปัจจุบัน (พ.ค. – ส.ค.) โดยมีโครงสร้างมาจากค่าไฟฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย บวกกับค่าใช้หนี้ กฟผ. 10.71สตางค์ต่อหน่วย และค่าชดเชยเชื้อเพลิงอีก 9.01 บาทต่อหน่วย ขณะที่แนวทางที่สอง หากรัฐต้องการชำระหนี้คืนให้ กฟผ. อย่างต่อเนื่องในอัตราที่มากขึ้น จะส่งผลให้ค่าไฟขยับขึ้นเป็น 4.87 บาทต่อหน่วย ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณจากภาระหนี้ของ กฟผ. ที่ยังเหลืออยู่ราว 66,072 ล้านบาท ใช้คืนแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท และแนวทางที่สาม เป็นกรณีที่มีการชำระหนี้ทั้งของ กฟผ. และ ปตท. รวมกัน โดยในส่วนของ ปตท. นั้นมีหนี้คงค้างจากการตรึงราคาก๊าซ LNG ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ 15,084 ล้านบาท จะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 5.10 บาทต่อหน่วย

‘รอบนี้เรามีสัญญาณที่ดีในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มถูกลง โดยเฉพาะ Spot LNG ระดับ 13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เราสามารถลดต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีปริมาณน้ำจากประเทศลาวที่เป็นเชื้อเพลิงให้การผลิตไฟฟ้าในอัตราสูง ทำให้เราสามารวางแนวทางค่าไฟในงวดสิ้นปีไว้ 3 กรณีนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศตัวเลขที่ชัดเจนได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ’ ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ดี แนวโน้มการปรับลดค่าไฟลงจาก 3.98 บาทต่อหน่วยนั้นต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกอย่างใกล้ชิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะราคา LNG ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าอย่างน้อย 36% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด หากราคาตลาดโลกทรงตัวในระดับ 12-13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศเพิ่มขึ้นก็รวมถึงแนวโน้มการใช้ไฟช่วงปลายปีจากอุณหภูมิที่เย็นลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟในประเทศไทยลดลงตามไปด้วย แต่ประเทศในเขตเมืองหนาวอาจมีการใช้แก๊สเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังต้องจับตาต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้า เรามองว่าจากสถานการณ์ในตอนนี้ 3.98 บาทต่อหน่วยเป็นตัวเลขเหมาะสมและเป็นไปได้ เพราะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

สำหรับรายละเอียดการดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับ การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ดังนี้

กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) และการคำนวณกรณีเรียกเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 131.94 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้ม (1) ต้นทุนเดือนก.ย. – ธ.ค.2568 จำนวน 9.01 สตางค์ต่อหน่วย และ (2) เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 66,072 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 100.08 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 22.85 สตางค์ต่อหน่วย) รวมจำนวน 122.93 สตางค์ต่อหน่วย

โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 – เม.ย. 2568 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมาคืนทั้งหมดภายในเดือนธ.ค.2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.10 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วย
ในงวดปัจจุบัน

กรณีที่ 2: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 109.09 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนก.ย. – ธ.ค. 2568 จำนวน 9.01 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 66,072 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 100.08 สตางค์ต่อหน่วย) โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมาคืนทั้งหมด ภายในเดือนธ.ค. 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.87 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนก.ย. – ธ.ค.2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 22.85 สตางค์ต่อหน่วย)

กรณีที่ 3: กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 19.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนก.ย. – ธ.ค. 2568 จำนวน 9.01 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 7,072 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 10.71 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อนำไปพิจารณาทยอยคืนภาระค่า AF ให้แก่ กฟผ. และมูลค่าส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บ เดือนก.ย. – ธ.ค. 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ในระบบของ กฟผ. ต่อไป ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 3.98 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับปัจจุบัน

ทั้งนี้ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 17 – 28 ก.ค. 2568 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ที่มา : กกพ.ชง 3 ทางเลือกค่าไฟท้ายปี เคาะตัวเลขถูกสุด-ดันแพงสุด ชัดเจนสิ้นเดือนก.ค.นี้ - ข่าวสด



squareADS
squareADS
ข่าวราคาทอง
Ads test
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ การเข้าชมเว็บไซต์นี้ต่อไปถือว่าท่านยอมรับคุกกี้บนเว็บไซต์และ  นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งหมดที่ระบุไว้