เตือนเงินบาทผันผวน กูรูวิเคราะห์โอกาส กนง.ลดดอกเบี้ย
สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ช่วงครึ่งปีหลัง เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก จากปัจจัยหลักคือ การเจรจาการค้า-ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทางสหรัฐ แน่นอนว่า ตลาดเงิน ตลาดทุนจะยังคงเต็มไปด้วยความผันผวน โดยเฉพาะในแง่อัตราแลกเปลี่ยน
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ประเมินว่า เงินบาทยังคงมีความผันผวน โดยเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง ไม่ใช่แข็งค่าทิศทางเดียว แต่การที่เงินบาทแข็งค่า และแข็งค่าเร็วในช่วงนี้มาจากราคาทองคำ ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะของไทยที่มีการส่งออกทองคำ ได้รับเงินดอลลาร์แล้วนำมาแลกกลับเป็นเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในบางจังหวะ
ขณะเดียวกัน เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และเคลื่อนไหวเป็นไปตามภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดอลลาร์อ่อนค่า เพราะความไม่มั่นใจในเงินดอลลาร์จากนโยบายภาษีของสหรัฐ จึงมีการเทขายสินทรัพย์ในรูปสกุลดอลลาร์ออกมา และโยกไปในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ของตลาดเกิดใหม่ หรือบิตคอยน์ เป็นต้น
“อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าอาจจะต้องระวังเงินบาทอ่อนค่า จากเดิมที่แข็งค่า จากความไม่ชัดเจนของนโยบาย แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาชัดเจนแล้วว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่ มีโอกาสเห็นเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าได้”
ทั้งนี้ กรอบเงินบาทในไตรมาสที่ 3/2568 คาดว่าอยู่ที่ 32.90 บาทต่อดอลลาร์ และสิ้นปี 2568 จะอยู่ในกรอบ 33.30 บาทต่อดอลลาร์
ดร.อมรเทพกล่าวว่า กรณีหากเงินบาทแข็งค่ามากจะไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ที่มีแนวโน้มหดตัวติดลบในไตรมาสที่ 4 เพราะจะยิ่งกระทบ ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และรายได้ภาคท่องเที่ยวลดลง ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่า ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่แย่อยู่แล้ว จะมีแนวโน้มแย่ลงอีก
ทั้งนี้ มองว่านโยบายการเงินคงปรับลดดอกเบี้ยตามภาวะเศรษฐกิจ แต่คงไม่ใช่แค่ปรับลดดอกเบี้ยอย่างเดียว ต้องมีนโยบายทางการคลังหรือมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นเพิ่มเติมด้วย
“ตอนนี้เรายังมองจีดีพีโตที่ 1.8% แต่จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นเดือนที่มีประเด็นสำคัญต้องติดตาม คือ 1.ภาพของ Tariffs หลัง 1 ส.ค.นี้ และ 2.ตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 2/68 ที่จะออกมาในวันที่ 18 ส.ค.นี้ เราจะนำมาพิจารณาในเรื่องของดอกเบี้ยไทย และจีดีพีอีกครั้ง จากเดิมเรามอง กนง.จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในเดือน ส.ค.และ ธ.ค.นี้”
ขณะที่ นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ทิศทางนโยบายการเงินจากนี้ จากที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจปีนี้ และคาดว่าอัตราภาษีตอบโต้ที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ค่อนข้างแย่ และมีสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็มีเหตุผลที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบัน 1.75% ต่อปี
โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ ซึ่งที่ผ่านมาการที่เงินบาทแข็งค่ามาจากนักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร เพราะมองว่า กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก ซึ่งหาก กนง.เปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ปรับลดลง และได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้เงินบาทแข็งค่า แต่หลังจากภาพเศรษฐกิจแย่ลง การส่งออกหดตัว และท่องเที่ยวไม่มา จะเป็นแรงกดดันให้ทิศทางเงินบาทอ่อนค่า
“ตอนนี้บาทแข็งค่าสูงกว่าภูมิภาค การปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าได้ ซึ่งศูนย์วิจัยมองว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง แต่ส่วนตัวคาดว่าอาจจะลดได้ถึง 2 ครั้ง ในเดือน ต.ค.และ ธ.ค. โดยในรอบเดือน ส.ค.นี้ เชื่อว่า กนง.จะรอดูผล Tariffs ให้สถานการณ์นิ่งก่อน ทั้งนี้ เราให้กรอบเงินบาทอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์”
ด้าน นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ Head of Financial Markets Function และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แนวโน้มเงินบาทอาจแข็งค่าต่อได้ไม่มาก โดยให้กรอบสิ้นปีที่ราว 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์ จากที่ดัชนีเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าได้อีกเล็กน้อยตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเงินไหลออกจากสหรัฐ
“ปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งค่าเร็วในช่วงนี้มาจากการที่สหรัฐ มีแนวโน้มขาดดุลการคลังมากขึ้น และผลกระทบของ Tariffs ที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกมีไม่มาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ตลาดรับรู้มาแล้ว แต่ในครึ่งปีหลัง การที่สหรัฐจะได้รายได้จากการจัดเก็บ Tariffs จะทำให้ตลาดคลายกังวลเรื่องการคลังสหรัฐลงได้ ดังนั้น ดอลลาร์จึงน่าจะอ่อนค่าอีกไม่มาก และบาทแข็งค่าอีกเล็กน้อย”
นายแพททริกกล่าวว่า ในแง่ผลกระทบต่อผู้ส่งออกมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้ามาดูแลไม่ให้บาทผันผวนมากเกินไป แต่คงไม่สามารถทำให้บาทกลับมาอ่อนค่าได้เร็ว
ดังนั้น ผู้ส่งออกก็อาจต้องบริหารความเสี่ยงค่าเงิน โดยอาจพิจารณาใช้ FX Options เข้ามาช่วย อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยลงอีกได้ แต่จะมาจากปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าการลดเพื่อช่วยค่าเงินบาท
ที่มา : เตือนเงินบาทผันผวน กูรูวิเคราะห์โอกาส กนง.ลดดอกเบี้ย